ประวัติความเป็นมาเรื่อง ลิลิตพระลอ
ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีไทยที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร
เนื่องด้วยวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอมีความดีเด่นงดงามทั้งในด้านการใช้ภาษา
การใช้คำ และเนื้อหา
วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เรียนวรรณคดีควรศึกษา
แม้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะยังมีข้อถกเถียงกันในเรื่องผู้แต่งว่าเป็นใคร
ก็ยังไม่มีข้อสันนิษฐานที่แน่ชัด แต่ที่มีหลักฐานมากที่สุด คือข้อสันนิษฐานของ
วิภา กงกะนันทน์ (2555, น. 6) ได้สันนิษฐานว่า ผู้เขียนน่าจะเป็นเจ้านายสตรีในพระราชวงศ์สุโขทัย
2.1 รูปแบบคำประพันธ์
รูปแบบเรื่องลิลิตพระลอนั้น เป็นกวีนิพนธ์ รูปแบบลิลิต คือ
แต่งร่ายสลับกับโคลง ดังตัวอย่าง
ขึ้นช้างไปผผ้าย มาคคล้ายโดยทาง ถับถึงกลางจรอกปู่ หมอเถ้าอยู่แลเห็น แสร้งแปรเปนโฉมมลาก เปนบ่าวภาคบ่าวงาม สองถึงถามหาปู่ ปู่หัวอยู่ยแย้มข้อยว่าสองแสล้ม มาแต่ด้าวแดนใด ฯ
สองคนึงในใคร่รู้ ลูกหลานปู่ฤๅผู้
อื่นโอ้ไป่งาม บารนี ฯ
กามกรรหายยั่วข้าง คิดแต่จักช้าช้าง
ท่านไส้จักเป็น ป่วยนา ฯ
(กรมศิลปากร, 2510, น. 16)
2.1.1 ภาษา
กวีใช้คำในภาษามาตรฐาน
ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่าย ดังตัวอย่าง
จักเชยพระลูกถ้วน
สรรพางค์
พระลูกประนมกรพลาง
จึ่งพร้อง
พระควรจูบแต่กลาง
กระหม่อม ไส้นา
แก้มเกศพระเจ้าต้อง
สั่งข้าพระควรฯ
ลูกรักแก้วแม่เอ้ย
ปรานี แม่ฤๅ
พระบาทบงกชศรี
ใส่เกล้า
ฤๅบาปิ่นภูมี
ทัดแม่ ไยพ่อ
ขอจูบบัวบาทเจ้า
สั่งเจ้าจอมใจฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 47)
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่ากวีใช้คำบรรยาย
พรรณนาความรักของแม่ลูก
ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงอารมณ์ของกวีและอารมณ์ของตัวละครได้โดยง่าย
2.1.2 โวหาร
กวีก็ใช้โวหารหลากหลาย
ทำให้เสริมอรรถรสในการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น โวหารที่ปรากฏในเรื่องนี้
ได้แก่ อุปนัย สมนัย อติพจน์ นามนัย อุทาหรณ์ บุคลาธิษฐาน เป็นต้น
2.1.2.1 ตัวอย่าง อุปนัย เช่น
ตาเหมือนตามฤคมาศ
พิศคิ้วพระลอราช
ประดุจแก้วเกาทัณฑ์
ก่งนาฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 5)
นางโรยนางรื่นขึ้น
ไปเยือน
เห็นราชสองหมองเหมือน ดั่งไข้
ทุกวันดุจดวงเดือน
งามชื่น ไส้นา
หมองดั่งนี้ข้าไหว้
บอกข้าขอฟังหนึ่งราฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 7)
เรียมฟังสารอ่านอ้าง
อันผจง กล่าวนา
ถนัดดั่งเรียมเห็นองค์
อะเคื้อ
สองศรีสมบูรณ์บง
กชมาศ กูเอย
นอนแนบสองข้างเนื้อ
แนบเชื้อชมเชยฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 11)
เห็นเดือนดุจดั่งหน้า
เพาพงา พี่เอย
เรียมเรียกนงนุชมา
พี่ถ้า
เล็งแลเหล่าเห็นตรา
กระต่าย เปล่านา
เดือนยะแย้มแย้มหน้า
ใคร่กลั้นใจตายฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 59)
2.1.2.2 ตัวอย่าง สมนัย เช่น
ออกท้าวฟังลูกไท้
ทูลสาร
ถนัดดั่งใจจักลาญ
สวาทไหม้
น้ำตาท่านคือธาร
แถวถั่ง ลงนา
ให้บรู้
กี้ไห้
สรอื้นอาดูรฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 29)
สองบัวบุษปอยู่ถ้า
ฟังข่าวพระลอช้า
อกร้อนคือไฟฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 30)
2.1.2.3
ตัวอย่าง อติพจน์ เช่น
ผีบันดาลไฟคคลุ้ม
ให้ควันกลุ้มเวหา ด้วยแรงยาแรงมนต์ ผีแดนทนทาน ยาก จึ่งฝากข่าวแก่ลม กึกก้องอมพรมี
ลัดพลัดปรีปรึงมา บอกแก่เทพยดาเสื้อเมือง ฟ้าหล้าเหลืองอุบาทว์ อากาศคลุ้มเป็นควัน
ฟ้าเครงครรชิตผ่า ใจเมืองบ้าดังจะผกหัวอกเมืองดังจะพัง
เทพดาฟังฟฟั่น ตกใจสั่นระรัว กลัวฤทธิ์พระปู่ ผู้มีเดชเกรียงไกร
(กรมศิลปากร, 2506, น. 37)
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่ากวีใช้คำที่เกินจริง
เพื่อเน้นความรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากเพียงใด
ลักษณวดีกรมทรวงสร้อย
ทุกข์แทบเลือดตาย้อย
เนตรน้ำนองนูนฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 51)
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า กวีใช้คำที่เกินจริงเกี่ยวกับความทุกข์
ความเศร้าของนางลักษณวดี ว่าทุกข์มาก เศร้ามาก ร้องไห้ขนาดที่เลือดจะไหลออกตา
2.1.2.4
ตัวอย่าง นามนัย เช่น
พระเอยหัวใจข้า
คิดใคร่ไปเห็นหน้า
เพื่อนไท้แพงทองฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 42)
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า คำว่าหัวใจ
ให้ความหมายที่มากกว่าอวัยวะในร่างกาย แต่หมายถึงความรู้สึกของพระลอ
2.1.2.5 ตัวอย่าง อุทาหรณ์ เช่น
ฉันใดสองพี่เลี้ยง
บปากสักคำเพี้ยง
ดั่งใบ้ฤๅควร
นะพี่ฯ
วานช่วยสรวลแก้หน้า
ชาวนอกฉันนี้อ้า
พี่เอ้ยวานดู
หนึ่งราฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 60)
2.1.2.6 ตัวอย่าง บุคลาธิษฐาน เช่น
ลมพัดเชิญท่านท้าว
เสด็จมา หนึ่งรา
ลมแล่นเวหาหา
ท่านไท้
พฤกษเทพบดีอา-
รักษ์เร่ง พระรา
ดาวดาษเดือนต่างไต้
ส่องท้าวเสด็จดลฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 88)
เสี่ยงไห้ทุกราษฎร์ไท้
ทุกเรือน
อกแผ่นดินดูเหมือน
จักขว้ำ
บเห็นตะวันเดือน
ดาวมืด มัวนา
แลแห่งใดเห็นน้ำ
ย่อมน้ำตาคนฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 141)
2.2 เนื้อหา
เนื้อหาของลิลิตพระลอนั้น เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ 2 เมือง คือ เมืองสรวงและเมืองสรอง
โดยเรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ของพระเพื่อนพระแพง
ปู่ของพระเพื่อนพระแพงคือท้าวพิมพิสาครราช ถูกท้าวแมนสรวงพ่อของพระลอ
ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสรวงฆ่าตายกลางสนามรบ ตั้งแต่เกิดเหตุนั้นเป็นต้นมา
เจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพงก็ผูกใจเจ็บมาโดยตลอด
เมื่อท้าวพิมพิสาครราชตายกลางสนามรบ
พ่อของพระเพื่อนพระแพงคือท้าวพิชัยพิษณุกรก็ขึ้นครองราชย์
ในขณะเดียวกันเมื่อท้าวแมนสรวงเสียชีวิต
พระลอก็ขึ้นครองราชย์ และมีพระมเหสีชื่อนางลักษณวดี
เรื่องราวน่าจะดำเนินไปด้วยดีทั้ง 2 เมือง
หากแต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในตอนท้ายนั้น
มาจากการที่พระเพื่อนพระแพงได้ยินคำชมโฉมพระลอจึงหลงรัก
นางรื่นนางโรยสาวใช้จึงใช้คนไปขับซอเพื่อชมความงามของพระเพื่อนพระแพงยังเมืองของพระลอบ้าง
เพื่อหวังให้พระลอหลงรัก หากแต่ไม่เกิดอะไรขึ้น ดังนั้นนางทั้งสองด้วยความรักเจ้านาย
จึงชักชวนพระเพื่อนพระแพงไปหาปู่เจ้าสมิงพรายเพื่อให้ทำเสน่ห์ให้
แต่การทำเสน่ห์ในครั้งนั้นก็ไม่ได้ผล
เนื่องจากนายแก้วนายขวัญพี่เลี้ยงพระลอสามารถหาหมอมาแก้เสน่ห์ได้
ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ใหม่อีกครั้ง คราวนี้พระลออาการหนักขึ้น แต่หมอก็สามารถมาแก้เสน่ห์ได้อีกครั้ง
จนครั้งสุดท้ายปู่เจ้าสมิงพรายเสกสลาเหินปนในหมาก เมื่อพระลอกินเข้าไป
พระลอรู้สึกรักและอยากเจอพระเพื่อนพระแพงมาก
พระลอกระวนกระวายมากจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหานางทั้งสองที่เมืองสรอง
แต่พระนางบุญเหลือมารดาของพระลอห้ามไว้ ด้วยโหรทักว่าพระลอจะเผชิญอันตรายและอาจถึงแก่ชีวิต
พระลอหาฟังคำมารดาไม่ ในที่สุดพระลอลาแม่และลาพระมเหสี(นางลักษณวดี)
พระลอออกเดินทางไปยังเมืองสรองพร้อมกับนายแก้วและนายขวัญ
ระหว่างทางพระลอเกิดความลังเลอยากกลับบ้านเมืองของตน เนื่องจากการเดินทางลำบาก
แต่ก็กลัวผู้คนจะครหาว่าขี้ขลาด พระลอตัดสินใจเสี่ยงน้ำปรากฏว่าน้ำหมุนวนและกลายเป็นสีแดงเหมือนสีเลือด ซึ่งเป็นลางร้าย
แต่พระลอก็ออกเดินทางต่อ
ฝ่ายนางรื่น นางโรยกังวล เนื่องจากยังไม่เห็นพระลอเดินทางมาถึง
นางทั้งสองจึงไปหาปู่เจ้าสมิงพราย ปู่เจ้าสมิงพรายจึงเสกไก่ นำทางพระลอจากป่ามายังเมืองสรวง
ในที่สุด พระลอ พระเพื่อนพระแพง ก็ได้พบกัน
พระลออาศัยอยู่ในวังกับพระเพื่อนพระแพงอย่างมีความสุขโดยที่ไม่มีใครรู้
จนกระทั่งวันหนึ่งท้าวพิชัยพิษณุกร (พ่อพระเพื่อนพระแพง) ได้พบพระลออยู่กับลูกสาวของตน
ด้วยลักษณะท่าทางของพระลอ ทำให้ท้าวพิชัยพิษณุกรพึงใจ
และเมื่อยิ่งรู้ว่าพระลอเป็นใคร ท้าวพิชัยพิษณุกรจึงยอมให้พระลออยู่กับลูกสาวของตน
แม้ว่าท้าวพิชัยพิษณุกรจะอนุญาต แต่เจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพงกลับไม่เห็นด้วย
เจ้าย่ายังฝังใจกับการที่พ่อของพระลอ(ท้าวแมนสรวง) ฆ่าสามีของตน(ท้าวพิมพิสาครราช)
ประกอบกับการที่พระลอลักลอบเข้าหาหลานรักทั้งสองโดยไม่ถูกต้องตามประเพณี
เจ้าย่าจึงสั่งทหารให้ไปฆ่าพระลอ
พระเพื่อนพระแพง รวมทั้งพี่เลี้ยงทั้งนางรื่นนางโรย
อาสารบเคียงข้างพระลอ และนายแก้วนายขวัญ ท้ายสุดทั้งหมดถูกธนูแทงตาย
เมื่อท้าวพิชัยพิษณุกรทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงสั่งประหารเจ้าย่าทันที
และจัดงานศพให้กับพระลอ พระเพื่อน พระแพง อย่างสมเกียรติ
2.2.1 ตัวละคร
จากเรื่องพระลอ
ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ามีตัวละครทั้งที่เป็นคนจริงและคนสมมติ คนจริงคือคนที่มีตัวตนจริง โดยคนจริงที่ปรากฏในเรื่องนี้
ได้แก่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นต้น ส่วนคนสมมติ คือ ตัวละครที่กวีเขียนขึ้นจากจินตนาการของกวี
ให้มีลักษณะเหมือนคนจริง ได้แก่ พระลอ ท้าวแมนสรวง นางบุญเหลือ พระเพื่อน พระแพง ท้าวพิมพิสาครราช
ท้าวพิชัยพิษณุกร เป็นต้น
การสร้างตัวละครทั้ง 2 แบบนั้น
กวีมีวิธีการสร้างที่หลากหลาย เช่น การบรรยายหรืออธิบายบุคลิกลักษณะตัวละครนั้น
การใช้พฤติกรรมของตัวละครเองบรรยายตัวละคร การใช้บทสนทนาของตัวละครอธิบายตัวละคร เป็นต้น
2.2.2 ฉาก สถานที่
สถานที่ ที่ปรากฏในพระลอก็มีทั้งที่เป็นสถานที่จริงและฉากสมจริงอีกด้วย
สถานที่จริง คือ เมืองสรวง และเมืองสรอง
เป็นเมืองโบราณซึ่งเป็นสถานที่จริงที่มีอยู่ ส่วนฉากสมจริงนั้น
คือฉากที่กวีได้สร้างขึ้นตามจินตนาการ หรืออาจจะมาจากประสบการณ์ของกวี
เพื่อให้ฉากเกิดความสมจริง คล้ายกับของจริงมากที่สุด เมื่อฉากสมจริงแล้วนั้น
ผู้อ่านจะได้อ่านเรื่องและได้ความสมจริงจากเรื่องมากขึ้น ฉากสมจริง เช่น ป่า บ้าน
ชุมชน วัง เป็นต้น
2.2.3 การลำดับเหตุการณ์
เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น
กวีได้ลำดับเหตุการณ์ไว้ตั้งแต่การเปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง และปิดเรื่อง ดังนี้
การเปิดเรื่อง กวีเปิดเรื่องด้วยร่าย 1 บท
เพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสรรเสริญความงาม
ความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา
การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีการเล่าสลับเหตุการณ์ แต่ละฉาก
แต่ละสถานที่ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังตัวอย่าง
ดังตัวอย่าง
“กล่าวถึงขุนผู้ห้าว
นามท่านท้าวแมนสรวง เป็นพระยาหลวงผ่านเผ้า .......
.................................................................................................................................
มีพระยาหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร
พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรวง
...................................................................................................................................”
(กรมศิลปากร, 2506, น. 2)
การปิดเรื่อง ในเรื่องลิลิตพระลอนี้ กวีได้ปิดเรื่องด้วยโศกนาฏกรรม
และความเศร้า คือความตายของพระลอ พระเพื่อน พระแพง และงานศพของทั้งสาม
โดยการลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ การเปิดเรื่อง
การดำเนินเรื่อง และการปิดเรื่อง กวีได้นำเสนอผ่านบทร้อยกรอง
คือร่ายสลับกับโคลง ซึ่งมีทั้งโคลง 2 โคลง 3 โคลง4 ซึ่งเป็นกลวิธีเสนอผลงานของกวีในเรื่องลิลิตพระลอ
ที่ช่วยให้เหตุการณ์ดำเนินไปได้อย่างน่าสนใจ
2.3 แนวคิด
จากองค์ประกอบด้านเนื้อหาข้างต้น คือ เรื่องราว คนตัวละคร และฉากสถานที่
จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจทรรศนะของกวีหรือแนวคิดที่กวีต้องการสื่อมายังผู้อ่านมากขึ้น
ทรรศนะสำคัญที่กวีต้องการสื่อ คือ “ความรัก” โดยความรักที่ปรากฏในเรื่อง
ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ามีความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือความรักของแม่
ดังจะเห็นได้ผ่านตัวละครคือพระนางบุญเหลือ ซึ่งรักลูกคือพระลอมาก
ซึ่งจากความรักของแม่ที่มีอย่างมากจนต้องยอมให้ลูกเดินทางไปหาสิ่งที่ลูกรัก
แม้ว่าแม่จะรัก คิดถึง และกังวลว่าลูกจะต้องตาย
แต่แม่เช่นพระนางบุญเหลือก็ยอมให้ลูกเนื่องจากไม่อยากเห็นลูกเศร้า
ความรักอีกด้านที่ปรากฏซึ่งกวีต้องการถ่ายทอดทรรศนะของตนออกมา
คือความรักของหนุ่มสาว ความลุ่มหลงและต้องการได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองรัก
โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดหรือจริยธรรมที่ดีงาม
ดังจะเห็นได้จากการที่พระเพื่อนพระแพงรู้สึกรักพระลอ
แล้วจึงให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์
ความรักทั้งสองแบบที่ปรากฏนั้น ได้นำไปสู่ความรักและความแค้นในท้ายเรื่อง
ซึ่งเป็นความรักของเจ้าย่าที่มีต่อท้าวพิมพิสาครราช
เมื่อท้าวพิมพิสาครราชถูกฆ่าตาย เจ้าย่าก็เจ็บแค้นฝังใจมาโดยตลอด เมื่อเจ้าย่าได้พบกับพระลอซึ่งเป็นลูกของคนที่ฆ่าคนรักของตน
จึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมตอนท้ายเรื่อง
2.4 การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ
คุณค่าที่ได้รับจาก ลิลิตพระลอ มีดังนี้
2.4.1 คุณค่าทางศีลธรรม
ลิลิตพระลอมีคุณค่าทางศีลธรรม
ที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นอิทธิพลของความรัก ความลุ่มหลง ของมนุษย์
ซึ่งเพียงเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองต้องการ จึงพยายามทำทุกอย่าง ทุกวิถีทาง
โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด หรือจริยธรรมที่ดีงาม
ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการสอนให้ผู้อ่านรู้จักระงับชั่งใจ และคิดไตร่ตรอง
ก่อนที่จะคิดทำสิ่งใดก็ตาม มิฉะนั้นอาจพบจุดจบในชีวิต ดังเช่น พระลอ พระเพื่อน
และพระแพง
2.4.2 คุณค่าทางอารมณ์
วรรณคดีเรื่องนี้ ได้สร้างอรรถรส อารมณ์ให้กับคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง
ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์รัก และอารมณ์เศร้า
2.4.2.1 ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น
แรงรักแรงราคร้อน
รนสมร
ยงยิ่งเปลวไฟฟอน
หมื่นไหม้
มนเทียรปิ่นภูธร
เป็นที่ ยำนา
ขืนข่มใจไว้ได้
เพื่อตั้งภักดีฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 118)
2.4.2.2 ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น
เจ้าไข้ทุกข์แม่เพี้ยง
ภูเขา ลูกเฮย
เจ้าเคลื่อนทุกข์บางเบา
สว่างร้อน
มาเห็นพ่อเงียบเหงา
หนักกว่า ก่อนนา
ทุกข์เร่งซ้อนเหลือซ้อน
ยิ่งฟ้า ทับแดฯ
หญิงชายเหลือแหล่งหล้า
ฤๅยล ยากนา
เห็นแต่เราสองคน
คู่ม้วย
ฉันใดพ่อกับตน
เป็นดั่ง นี้นา
แม้พ่อตายตายด้วย
พ่อแล้จอมใจ แม่เอยฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 32)
2.4.3 คุณค่าทางวัฒนธรรม
วัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องนี้นั้น ทั้งวัฒนธรรมการกิน ประเพณี
พิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงความเชื่อ
2.4.3.1 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องผี เช่น
นายแก้วจักอยู่เร้ง
ไปหา
เร็วเร่งพระโหรมา
อย่าช้า
หาหมู่หมื่นแพทยา
หมอภูต มานา
หาแม่มดถ้วนหน้า
หมู่แก้กฤติยาฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 29)
ผีสางเข้าส่งซ้ำ
เติมมา มากนา
มนตรมายายำ
หยูกซ้ำ
วันใดราชลีลา
ยกย่าน ไปนา
อกแม่ผอมไข้ขว้ำ
หล่นหล้มพระองค์ฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 39)
2.4.3.2 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องโชคลาง เช่น
หาโหรหาถ้วนมิ้ง
มนตรี
หาปู่สิทธิไชยสี-
ลาศเต้า
แถลงคำแก่นกษัตริย์
ทุกสิ่ง แลนา
โหรว่าจักห้ามเจ้า
แผ่นหล้าฤๅฟังฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 41)
2.4.3.3 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องเทวดา เช่น
ขอฝากฝูงเทพไท้
ภูมินทร์
อากาศพฤกษาสินธุ์
ป่ากว้าง
อิศวรนรายณ์อินทร์
พรหเมศ ก็ดี
ช่วยรักษาเจ้าช้าง
อย่าให้มีภัยฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 49)
2.4.3.4 ตัวอย่าง ความเชื่อเรื่องฝันบอกเหตุ เช่น
ดับนั้นสี่นางฝัน เห็นอัศจรรย์นิมิต
ติดใจจำขมขื่น ตื่นตระบัดอ่อนไท้ พระเพื่อนคิดจำได้ กล่าวแก้ความฝันฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 89)
2.4.4 คุณค่าทางจินตนาการ
ในเรื่องนี้กวีได้จินตนาการ การเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละคร
คือการที่ตัวละครมีการแปลงร่าง หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตน
จากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง ในเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะตัวละครปรากฏอยู่ด้วย
จากการที่ปู่เจ้าสมิงพรายแปลงร่างเป็นชายหนุ่ม ดังตัวอย่าง
ขึ้นช้างไปผผ้าย มาคคล้ายโดยทาง ถับถึงกลางจรอกปู่ หมอเฒ่าอยู่แลเห็น
แสร้งแปรเป็นโฉมมลาก เป็นบ่าวภาคบ่าวงาม สองถึงถามหาปู่ ปู่หัวอยู่ยแย้ม ข้อยว่าสองแสล้ม
มาแต่ด้าวแดนใดฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 16)
2.4.5 คุณค่าทางวรรณศิลป์
2.4.5.1 การเล่นคำ
2.4.5.1.1 ตัวอย่าง การเล่นอักษร เช่น
คลังกูคลังลูกแก้ว
กูนา
จักจ่อมจ่ายเยียวยา
หน่อเหน้า
สิ้นทั้งแผ่นดินรา
แม่ลูก ก็ดี
สิ้นแต่สินจงเจ้า
แม่ได้แรงคืนฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 30)
ผีผยุ่งรบกันด้วย ผีแขวง แดนนา
ผีทุ่มผีไล่แทง ผาดผ้าย
ผันแผงแผดรบแรง
ร้องเร่ง พลนา
ผีแขกรุกราญร้าย
รบเร้ารอนผลาญฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 36)
ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง
แลลูกลิงลงชิง ลูกไม้
ลิงลมไล่ลมติง ลิงโลด หนีนา
แลลูกลิงลางไหล้ ลอดเลี้ยวลางลิงฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 63)
2.4.5.1.2 ตัวอย่าง การเล่นคำ เช่น
จูบนาสิกแก้วแม่
หอมใด
ดุจนา
จูบเคียงคางคอใจ
จักขว้ำ
จูบเนื้อจูบนมใส
เสาวภาคย์ พระเอย
จูบไล่หลังอกซ้ำ จูบข้างเชยแขนฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 47)
2.4.5.2 น้ำเสียง
2.4.5.2.1 ตัวอย่าง น้ำเสียงเศร้า เช่น
ลูกตายก็ตายแล้ว เจ็บบตายเห็นหน้าแก้ว
เกิดเกล้ากูมาฯ
น้ำตาไหลหลั่งไห้ เป็นเลือดตกอกไหม้
ออกท้าวฤๅเห็น ลูกเลยฯ
(กรมศิลปากร, 2506, น. 73)
2.4.5.2.2 ตัวอย่าง น้ำเสียงรื่นเริง เช่น
พระลออดบได้
ขิกหัว
สองนาฏตกใจกลัว
สะดุ้ง
พระพักตร์ดุจดอกบัว
บานร่อ กันนา
เผยม่านแพรพรรณวุ้ง
ออกให้เห็นองค์
(กรมศิลปากร, 2506, น. 113)
2.4.5.2.3 ตัวอย่าง น้ำเสียงโกรธแค้น เช่น
...ข่าวขจรไปถึงย่า ย่าไปว่าไปวอน
อ้าภูธรธิบดี ลูกไพรีใจกาจ ฆ่าพระราชบิดา แล้วลอบมาดูถูก
ประมาทลูกหลานเรา จะให้เอาจงได้ อย่าไว้ช้าดัสกร เราจะให้ฟอนให้ฟัน
เราจะให้บั่นให้แล่ ทุกกระแบ่จงหนำใจ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น